นิราศ คือ
บทประพันธ์ที่แต่งขึ้นเพื่อบรรยายถึงสภาพการเดินทาง
ด้วยสมัยก่อนการเดินทางค่อนข้าง ลำบากและใช้เวลานาน
นักเดินทางจึงแก้ความเหงาเบื่อด้วยการประพันธ์บทกวี พรรณนาถึงการเดินทาง
และสภาพภูมิประเทศ โดยมากมักโยงเข้ากับความรัก สมเด็จฯ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายที่มาของนิราศไว้ ดังนี้:
"หนังสือจำพวกที่เรียกว่านิราศ
เป็นบทกลอนแต่งเวลาไปทางไกล มูลเหตุจะเกิดหนังสือชนิดนี้ขึ้น สันนิษฐานว่า
คงเป็นเพราะเวลาเดินทาง ที่มักต้องไปเรือหลายๆ วัน มีเวลาว่างมาก
ได้แต่นั่งๆ นอนๆ ไป จนเกิดเบื่อ ก็ต้องคิดหาอะไรทำแก้รำคาญ
ผู้สันทัดในทางวรรณคดี จึงแก้รำคาญโดยทางกระบวนคิดแต่ง บทกลอน
บทกลอนแต่งในเวลาเดินทางเช่นนั้น
ก็เป็นธรรมดาที่จะพรรณนาว่าด้วยสิ่งซึ่งได้พบเห็นในระยะ ทาง
แต่มักแต่งประกอบกับครวญคิดถึงคู่รักซึ่งต้องพรากทิ้งไว้ทางบ้านเรือน
กระบวนความในหนังสือนิราศ จึงเป็นทำนองอย่างว่านี้ทั้งนั้น
ชอบแต่งกันมาแต่ครั้งกรุงรัตนโกสินทร์...
นิราศที่แต่งกันในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์
แต่งทั้งเป็นโคลงแลเป็นกลอนสุภาพ ดูเหมือนกวีที่แต่งนิราศ ในครั้งรัชกาลที่
๑ รัชกาลที่ ๒ จะถือคติต่างกันเป็น ๒ พวก พวกหนึ่งถือคติเดิมว่า
โคลงฉันท์เป็นของสำคัญ และแต่งยากกว่ากลอน
กวีพวกนี้แต่งนิราศเป็นโคลงตามเยี่ยงอย่างศรีปราชญ์ทั้งนั้น
กวีอีกพวกหนึ่งชอบ เพลงยาว อย่างเช่นเล่นกันเมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา
กวีพวกนี้แต่งนิราศเป็นกลอนสุภาพทั้งนั้น ถ้าว่าเฉพาะ
ที่เป็นกวีคนสำคัญในพวกหลังนี้
คือสุนทรภู่แต่งนิราศเป็นกลอนสุภาพมากเรื่องกว่าใครๆ หมด กลอนของ
สุนทรภู่คนชอบอ่านกันแพร่หลาย
ก็ถือเอานิราศของสุนทรภู่เป็นแบบอย่างแต่งนิราศกันต่อมา ตั้งแต่รัชกาล ที่
๓ จนถึงรัชกาลที่ ๕"
นิราศของสุนทรภู่ นอกจากจะพรรณนาการเดินทางแล้ว
ท่านยังสอดแทรกคติธรรม ข้อเตือนใจต่างๆ
และเปรียบเทียบถึงชีวิตของตัวท่านเองเข้าไว้ด้วย
ทำให้นักศึกษางานของท่านสืบเสาะประวัติของท่านจาก
งานนิพนธ์ของท่านเองได้มาก
ท่านสุนทรภู่แต่งนิราศไว้มาก แต่เท่าที่พบในปัจจุบันมี ๘ เรื่อง คือ
นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท นิราศภูเขาทอง นิราศวัดเจ้าฟ้า นิราศอิเหนา
นิราศสุพรรณ นิราศพระประธม และนิราศเมืองเพชร ส่วน รำพันพิลาป
ก็มีเนื้อความรำพึงรำพันทำนองเดียวกับนิราศ
เนื้อหาเกี่ยวกับชีวประวัติของท่านสุนทรภู่เป็น ส่วนใหญ่ นอกเหนือจากนี้
ในช่วงเวลาที่ท่านบวชเป็นพระนั้น ท่านได้ธุดงค์ไปทั่ว
จึงเชื่อว่ายังมีนิราศ เรื่องอื่นของท่านที่ยังมิได้ค้นพบ
หรืออาจไม่มีวันค้นพบก็ได้ เพราะต้นฉบับอาจถูกทำลายไปเสียแล้วเมื่อ
ครั้งปลวกขึ้นกุฏิของท่านที่วัดเทพธิดาราม